{{title}}
{{label}}ข้อกำหนดในการปฏิบัติงานที่ดีของเอไอเอ
กลุ่มบริษัทเอไอเอเป็นองค์กรขนาดใหญ่ เราอยู่ร่วมกันภายใต้พันธสัญญาที่จะทำตามคำมั่นสัญญาของเรา เราทุกคนมีหน้าที่รับผิดชอบในการสร้างความไว้วางใจที่บุคคลภายนอกมีให้บริษัทของเรา
• เพื่อนพนักงานของเราไว้วางใจว่าเราเห็นคุณค่าและให้เกียรติพวกเขา
• ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจของเราไว้วางใจในความซื่อสัตย์ของเรา
• ผู้ถือหุ้นของเราไว้วางใจในการจัดการดูแลองค์กรของเรา
• ชุมชนต่างๆทั่วโลกไว้วางใจเราในการเป็นองค์กรที่รับผิดชอบต่อชุมชน
ความรับผิดชอบของพนักงานภายใต้หลักปฏิบัตินี้
ในฐานะพนักงานของบลจ.เอไอเอ คุณต้อง
• ปฏิบัติตามนโยบาย แนวทางการปฏิบัติงานและขั้นตอนการปฏิบัติงานของเอไอเอ
• ปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ
• เข้าร่วมการฝึกอบรมเรื่องจรรยาบรรณ
• ประพฤติให้เป็นแบบอย่างที่ดี นั่นคือปฏิบัติตามหลักปฏิบัติและปรัชญาการดำเนินธุรกิจในทุกๆ เรื่องที่คุณทำและตัดสินใจ แม้ในขณะที่ไม่มีใครเห็นก็ตาม
• แจ้งข้อมูลทันทีและรายงานการกระทำที่ขัดกับหลักปฏิบัติ สอบถามเมื่อคุณมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการกระทำผิดใดๆ
• รับรองว่าได้ปฏิบัติตามหลักปฏิบัตินี้เป็นประจำทุกปี
ความรับผิดชอบเพิ่มเติมของพนักงานระดับผู้บังคับบัญชา
หากท่านเป็นพนักงานระดับผู้บังคับบัญชา ท่านมีความรับผิดชอบเพิ่มเติมดังนี้:
• เป็นผู้นำโดยการทำเป็นตัวอย่าง ยึดหลักปรัชญาในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้ใต้บังคับบัญชาประพฤติเช่นเดียวกับคุณ ไม่กดดันผู้อื่นให้ละเลยต่อการปฏิบัติตามหลักปฏิบัติหรือปรัชญาการปฏิบัติงานของเรา
• รับฟังปัญหา คุณต้องยินดีรับฟังข้อซักถาม ข้อสงสัย และให้คำแนะนำพนักงานตามหลักปฏิบัตินี้
• ส่งเสริมวัฒนธรรมความไว้วางใจและความโปร่งใสในองค์กร พนักงานกล้าที่จะปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณกับคุณ
• สอดส่องดูแล ไม่ละเลยต่อเหตุการณ์ใดๆ ที่อาจจะมีการกระทำผิด หรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม หากคุณไม่แน่ใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวให้ขอความช่วยเหลือจากพนักงานระดับผู้บังคับบัญชาคนอื่น ฝ่ายกำกับดูแลธุรกิจ หรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล
บริษัท หลักทรัพย์ จัดการกองทุน เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด
(1) ปรัชญาพื้นฐาน
เอกสารฉบับนี้กำหนดแนวทางโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอไอเอ (ประเทศไทย) จำกัด (“บริษัท.”) ในการสนับสนุนหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน (Investment Governance Code: I-Code) บริษัทจะมุ่งจัดการการลงทุนที่มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเน้นให้การดูแลผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้าเป็นสำคัญ บริษัท จะปฏิบัติตามหน้าที่ความรับผิดชอบของบริษัทโดยการส่งเสริมและสนับสนุนกิจการที่ลงทุนตามแนวทางที่อธิบายไว้ในนโยบายธรรมมาภิบาลการลงทุน เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการดูแลการลงทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบันตามแนวทางสากลโดยยึดถือหลักปฏิบัติ 7 ประการ ทั้งนี้ บริษัทต้องคำนึงถึงเรื่องความสมเหตุสมผล และประสิทธิภาพของการปฏิบัติหน้าที่ตามนโนบายดังกล่าว เช่น การพิจารณาในเรื่องการนำนโยบาย I-Code มาบังคับใช้กับการบริหารการลงทุนแบบ Passive หรือ การบริหารกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) เป็นต้น
(2) หลักปฏิบัติ 7 ประการเพื่อให้บรรลุหลักธรรมาภิบาลการลงทุนสำหรับผู้ลงทุนสถาบัน
หลักปฏิบัติที่ 1 การกำหนดนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (นโยบาย I Code) ที่ชัดเจน
คณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย I-Code ให้มีความชัดเจนและเป็นลายลักษณ์อักษรที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของบริษัท เช่น ขนาด โครงสร้าง และบทบาทในกระบวนการลงทุน (Investment Process) และทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญ (Material Event) เพื่อให้นโยบายถูกผลักดันสู่การปฏิบัติและบรรลุตามวัตถุประสงค์คณะกรรมการบริษัทสนับสนุนหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I-Code) เพื่อเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการดูแลการลงทุนในฐานะผู้ลงทุนสถาบันตามแนวทางสากลดังนี้
หลักปฏิบัติที่ 2 การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอเพื่อประโยชน์ของลูกค้า
บริษัทมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมายและหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ บริษัทได้มีการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ พนักงานทุกคนหน้าที่ต้องรักษามาตรฐานทางจริยธรรมที่สูงในการปฏิบัติตนทั้งทางส่วนตัวและเป็นมืออาชีพ บริษัทได้กำหนดนโยบายการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์และระเบียบปฏิบัติรวมถึงวิธีการจัดการหากเกิดกรณีที่ผลประโยชน์ของลูกค้ากับบริษัทหรือลูกค้าอื่นไม่เป็นไปในทางเดียวกัน
หลักปฏิบัติที่ 3 การตัดสินใจและติดตามกิจการที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์
บริษัทมีกระบวนการตัดสินใจลงทุนที่ชัดเจนโดยครอบคลุมถึงปัจจัยที่สำคัญ อาทิเช่น โมเดลทางธุรกิจ กลยุทธ์ ผลประกอบการของกิจการที่ลงทุน รวมถึงปัจจัยต่างๆ ที่อาจกระทบต่อมูลค่าและความเสี่ยงของกิจการที่ลงทุน เป็นต้น
บริษัทมีกระบวนการในการติดตามการดำเนินงานของกิจการที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถทราบผลการดำเนินงานของกิจการที่ลงทุนและรู้ปัญหาของกิจการที่ลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นและทันเหตุการณ์ บางกรณีอาจรวมถึงการเข้าพบปะแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้บริหารและ/หรือกรรมการเพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางและการดำเนินนโยบายของบริษัท
ในกรณีที่พบว่า กิจการที่ลงทุนไม่ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือมีประเด็นที่เกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อ สิ่งแวดล้อม สังคมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี หรือมีสัญญาณของปัญหาที่อาจส่งผลต่อมูลค่าการลงทุน บริษัท จะพิจารณาอย่างรอบคอบต่อคำอธิบายที่ได้รับหรือต่อการไม่มีคำอธิบายของกิจการที่ลงทุน โดยหากบริษัทมีความเห็นที่แตกต่างกับคำอธิบายหรือการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหารวมทั้งเหตุผลที่กิจการอธิบาย บริษัทจะพิจารณาดำเนินการตามความเหมาะสมของเรื่อง เช่น แจ้งให้คณะกรรมการของกิจการที่ลงทุนทราบเป็นลายลักษณ์อักษร หรือขอเข้าพบคณะกรรมการหรือฝ่ายจัดการของกิจการนั้นๆเพื่อสอบถาม เป็นต้น
หลักปฏิบัติที่ 4 การเพิ่มระดับในการติดตามกิจการที่ลงทุน เมื่อเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ
หลังจากที่ บริษัทได้ติดตามและดำเนินการตามหลักปฏิบัติที่ 3 แล้วเห็นว่าไม่เพียงพอ บริษัทมีแนวปฏิบัติที่ระบุถึงเหตุการณ์และแนวทางที่จำเป็นในการเข้าไปดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนเพิ่มเติม เพื่อให้บริษัทสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและฟื้นมูลค่าการลงทุนในกิจการที่ลงทุนนั้นได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ในการดำเนินการเพิ่มเติม บริษัทจะพิจารณาเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการที่ใช้ตามความจำเป็น เช่น มีหนังสือถึงคณะกรรมการของกิจการที่ลงทุนเพื่อแจ้งประเด็น ข้อสังเกต หรือ เข้าพบประธานกรรมการหรือกรรมการอื่นของกิจการที่ลงทุน นอกจากนี้บริษัทอาจพิจารณาการนำเสนอประเด็นที่กังวลร่วมกับผู้ลงทุนสถาบันอื่น เป็นต้น
การประเมินผลเรื่องการดำเนินการเพิ่มเติม การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการในแต่ละกรณีนั้น จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบ ต่อ บริษัทในฐานะของนักลงทุน ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะ สิทธิทางกฏหมาย การเจรจาในประเด็นข้อมูลที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการเพิ่มเติมกับกิจการที่ลงทุนนั้น อาจทำให้บริษัทรับทราบข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อราคาและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ บริษัทจะมีมาตรการรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าวเพื่อป้องกันการกระทำที่อาจผิดกฎหมายและเป็นการเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่น
หลักปฏิบัติที่ 5 การเปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง
บริษัทจะใช้สิทธิออกเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นของกิจการต่างๆ ที่กองทุนภายใต้การบริหารของบริษัทลงทุน ยกเว้นกองทุนที่ลูกค้าแจ้งความประสงค์จะใช้สิทธิออกเสียงเอง โดยบริษัทกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้นเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใต้การอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทหรือคณะกรรมการอื่นใดที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย
นโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น เป็นนโยบายและหลักเกณฑ์ที่กำหนดแนวทางการแสดงมติอย่างชัดเจน และออกแบบมาเพื่อมีส่วนร่วมในการเติบโตอย่างยั่งยืนของกิจการที่ลงทุนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นระยะยาวในกรณีที่บริษัทตัดสินใจใช้สิทธิออกเสียงที่ต่างไปจากนโยบายและหลักเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจะบันทึกเหตุผลเพื่อการตรวจสอบภายหลังนโยบายและหลักเกณฑ์การใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น และรายงานผลการใช้สิทธิออกเสียงจะถูกเปิดเผยบนต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ของบริษัทหรือรายงานตรงต่อลูกค้า แล้วแต่กรณี
หลักปฏิบัติที่ 6 ความร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นและผู้มีส่วนได้เสียตามความเหมาะสม
ในการดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนที่มีข้อกังวลและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลังจากเพิ่มระดับในการติดตามได้ บริษัทอาจมีการร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่น (ทั้งในประเทศและต่างประเทศ) หรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ (Collective Engagement) หากเห็นสมควรเพื่อให้กิจการที่ลงทุนเห็นความสำคัญของประเด็นข้อกังวลของบริษัทและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น
ในการพิจารณาถึงระดับการมีส่วนร่วม ของ บริษัทกับนักลงทุนรายอื่นๆ นั้น บริษัทอาจจะพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น ความสำคัญของประเด็นต่อมุมมองและความคิดเห็นภายใต้กรอบระเบียบปฏิบัติภายในของบริษัทเอง ประเด็นเรื่องขนาดและมูลค่าการลงทุนของกองทุนภายใต้การบริหารของบริษัท ความจำเป็นในการรักษาความลับ ตลอดจนความคิดเห็นของบริษัทและตลอดจนความเข้ากันได้ของมุมมองของนักลงทุนสถาบันรายอื่นๆ
หลักปฏิบัติที่ 7 การเปิดเผยนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
นโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code Policy: I-Code Policy) ของบริษัทจะถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนบนเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจและความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัท รวมถึงการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบาย